สสส. สานพลัง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs” - Siam Daily

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, October 21, 2023

สสส. สานพลัง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs”


สสส.
สานพลัง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs” 4 สนาม ฉุด เยาวชนเพิ่มกิจกรรมทางกาย ห่างไกลอันตราย-ตระหนักพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ประเดิมสนามแรก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล 22 ต.ค. นี้



เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2566 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเด็นสุขภาพให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ เพื่อยกระดับสุขภาพคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีทุกมิติ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวโครงการ “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs” มุ่งเพิ่มกิจกรรมทางกายผ่านการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง รณรงค์สร้างความตระหนักถึงอันตรายจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เยาวชนรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า



“กิจกรรมเดิน-วิ่ง HEALTHY HERO มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ระยะทาง 5 กม. โดยจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย 4 แห่งทั่วประเทศ เริ่มสนามแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 และมหาวิทยาลัยอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งนี้ เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม 1,000 คนต่อกิจกรรม โดยนักวิ่งจะได้รับเสื้อ BIB และเหรียญที่ระลึก สนใจสมัครวิ่งได้ที่ระบบไทยรัน https://race.thai.run/ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประกวดคลิปต้นแบบคนรักสุขภาพ 4 หัวข้อ 1. บุหรี่ไฟฟ้า : มีพิษ 2. บุหรี่ไฟฟ้า : เสพติด 3. บุหรี่ไฟฟ้า : อันตราย 4.บุหรี่ไฟฟ้า : ไม่เท่ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Healthy Hero ห่างไกลโรค NCDs และบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว



ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มูลนิธิฯ มุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าผ่านการสื่อสารในเชิงบวก เนื่องจากค่านิยมและความเข้าใจผิดเรื่องความร้ายแรงของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น จากการที่เข้าถึงง่าย และการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทบุหรี่ รวมถึงเรื่องทัศนคติของเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง 2 เรื่อง 1.ช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่แล้วให้เลิกสูบบุหรี่ 2.รณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ถือเป็นมาตรการที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลที่มีความรู้ และมีบุคคลต้นแบบในการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ให้เยาวชนเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้เยาวชนยืนยันที่จะไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิต



นายเธียรสิทธิ์ จิโรจน์วีรภัทร
ประธานสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้ เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนได้เล็งเห็น และตระหนักถึงอันตรายและรู้เท่าทันของบุหรี่ไฟฟ้า ทางสมาพันธ์ฯ เห็นถึงความสำคัญให้มีการดำเนินงานจัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs” สอดคล้องการดำเนินงานของสมาพันธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ ไตรพลัง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ทั้งพลังความรู้ พลังนโยบาย และพลังสังคมอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมและรณรงค์ในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการเดินและวิ่ง มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้น และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม


ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์
ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเดินและการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ประหยัด ลดการเกิดปัจจัยเสี่ยง NCDs ส่งผลดีต่อร่างกายทุกระบบ ทั้งร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญนักวิ่งควรหมั่นฝึกซ้อมวิ่งก่อนลงสนามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บจากการวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บโดยสังเกตตัวเอง 1.หากมีอาการหน้ามืดวิงเวียน ให้ลดความเร็วหรือหยุดสังเกตการณ์ 2.วิ่งแล้วมีอาการเจ็บ ควรพักจนกว่าจะหายดีและพร้อมวิ่งอีกครั้ง การฝืนวิ่งขณะบาดเจ็บจะยิ่งทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษาที่นานขึ้น หากไม่มั่นใจในอาการบาดเจ็บ ให้ปรึกษาแพทย์รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาต่อไป


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad