วันที่ 21 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือซุปเปอร์ยอร์ช พอร์ต มัจฉานุ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการท่าเรือและแผนพัฒนาในระยะยาว พร้อมสำรวจพื้นที่โครงการท่าเรือยอร์ช และ อู่ซ่อมเรือยอร์ช พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน, ผู้บริหารโครงการฯ, หัวหน้าส่วนราชการ และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ณ บริเวณท่าเทียบเรือพอร์ตมัจฉานุ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
\
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมชมโครงการท่าเรือซุปเปอร์ยอร์ช “พอร์ต มัจฉานุ”และ เป็นที่น่ายินดีมากที่ จ.ภูเก็ต ที่จะมีท่าเรือยอร์ช และ อู่ซ่อมเรือยอร์ช ที่ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนร่วมในการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต และ สร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนในอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมถึง การสร้างอัตราการจ้างงานของแรงงานฝีมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค จากที่หารือกับ ผู้บริหารโครงการฯ เราได้ทราบถึงความต้องการการแรงงานทักษะฝีมือสูง จำนวนกว่า 1,500 คน โดยเฉพาะในส่วนของช่างเชื่อม และ ช่างเชื่อมใต้น้ำ ที่ Up Skill เพิ่มมาตรฐาน เทคนิคการเชื่อม 4G ถึง 6G เป็นเทคนิคการเชื่อมอลูมิเนียมขั้นสูงของอุตสาหกรรมการซ่อมเรือยอร์ช ทั่วโลก
ดังนั้น กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีนโยบาย ในส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตอบสนองความต้องการแรงงานในพื้นที่ เพื่อการสร้างการจ้างงาน และ รายได้ตามทักษะฝีมือแรงงาน สำหรับแรงงานภายหลังจากการเข้ารับการอบรม รวมถึงการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน และ ในขั้นต้น ผมได้มอบหมาย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการเร่งอบรมอัพสกิล "ช่างเชื่อมและช่างเชื่อมใต้น้ำ" จำนวน 300 คน เพื่อรองร้บการจ้างงาน ณ โครงการแห่งนี้ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีงานรองรับเลยทันที มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานกลุ่มนี้หลุดพ้น จากค่าแรงขั้นต่ำ
กระทรวงแรงงาน พร้อมเสมอในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน หากอุตสาหกรรม หรือ ผู้ประกอบการใด ที่มีความต้องการแรงงานฝีมือ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศไทย โดยทางกระทรวงแรงงานจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการเร่ง UPSKILL ฝีมือแรงงานที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และ ตลาดแรงงาน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อทำให้พี่น้องแรงงานไทยหลุดพ้นจากค่าแรงขั้นต่ำ ” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดภูเก็ต พบว่า ปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 342,568 คน เป็นผู้มีงานทำ 340,433 คน ผู้ว่างงาน 2,135 คน มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 229,588 คน มีสถานประกอบการ 12,570 แห่ง โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 5 แห่ง มีแรงงานต่างด้าว 70,749 คน
โดยจังหวัดภูเก็ต มีความต้องการแรงงานคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการในระดับพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการ อาทิ พนักงานนวดและสปา พนักงานบริการอาหาร พนักงานต้อนรับส่วนหน้า แม่บ้านโรงแรม พนักงานขับรถบริการ และมัคคุเทศก์ เป็นต้น ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับนโยบาย ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการเร่งพัฒนาทักษะแรงงานด้านภาคท่องเที่ยวและบริการจำนวนกว่า 40,000 คน พร้อมมุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาเกาหลี เพื่อการบริการนักท่องเที่ยว และ สร้างความประทับใจแด่นักท่องเที่ยว เพื่อการทำให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวในใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกตลอดไป
No comments:
Post a Comment