กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. เปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากเครือข่ายนักวิจัย สังคมศาสตร์ ผ่านงานเวทีเสวนาวาระการวิจัยสังคมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย ครั้งที่ 1: “ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา”
เพื่อร่วมกันสำรวจ ระดมสมอง และกำหนดแนวทางการภูมิทัศน์ใหม่ของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ สู่การยกระดับสถานะความรู้และคุณูปการของการวิจัยและการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านสังคมศาสตร์
และมนุษยศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีผู้บริหารหน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณในระบบ ววน. และเครือข่ายนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ แต่การสร้างสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสันติจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางสังคมศาสตร์ ซึ่งมีหลักคิดที่ต่างไปจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์
มาช่วยให้เห็นที่มาที่ไปและเข้าใจความแตกต่างทางสังคม อาทิ ฐานข้อมูลชาติพันธุ์ ที่ระบุว่าในประเทศไทย
มีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อยกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ การได้เรียนรู้ความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ จึงเป็นทักษะทางวัฒนธรรมที่จะช่วยให้ผู้คนอันแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างสันติสุข หรืออย่างน้อยก็ไม่ขัดแย้งกันมากเกินไปจนบานปลายเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน
“การวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่มีคุณค่าจึงเป็นการวิจัยที่สร้างและส่งมอบองค์ความรู้ที่สามารถสะท้อนปัญหา อธิบายปรากฏการณ์ ชี้ทิศทาง และวางเป้าหมายการพัฒนาของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้คนและบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เครือข่ายนักสังคมศาสตร์จะเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์และระบบวิจัยของประเทศ” พญ.เพชรดาว กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. ตระหนักถึงความ
ท้าทายในการส่งเสริมคุณภาพของคนและสังคมไทยด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จึงได้ส่งเสริม
การขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ของประเทศไทยไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติร่วมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการจัดทำแผน ววน. ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ 2 แผนงาน ได้แก่
• แผนด้าน ววน. พ.ศ.2563-2565: “แพลตฟอร์มที่ 1” การพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ “แพลตฟอร์มที่ 2” การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์
ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 9 แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสังคมและความมั่นคงทุกมิติ
• แผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570: “ยุทธศาสตร์ที่ 2” การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เป็นยุทธศาสตร์หลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมศาสตร์ อีกทั้ง“ยุทธศาสตร์ที่ 3” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนางาน Frontier Research ด้านสังคม และ “ยุทธศาสตร์ที่ 4” การพัฒนากำลังคนด้าน ววน. รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาสถาบันความรู้
ด้านสังคมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม สกสว.พบว่าสถานภาพของงานวิจัยไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความไม่สมดุลระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง การกระจายตัว พัฒนาการของประเด็นวิจัย ความก้าวหน้าในเชิงเนื้อหาและช่องว่างประเด็นที่ยังขาดแคลน รวมถึงระบบและเครือข่ายวิชาการ รวมทั้งศักยภาพของนักวิจัยและสถาบันวิจัยที่เป็นแกนหลักในการยกระดับสถานะความรู้และคุณูปการของงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จึงเปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนของเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดังกล่าวขึ้น เพื่อกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของงานวิจัย
ด้านสังคมศาสตร์ของสังคมไทย เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์ในภูมิทัศน์ใหม่ของสังคมไทย และเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในภูมิทัศน์ใหม่ของสังคมไทย
“สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน”
ดร. นายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยที่ได้ศึกษาอย่างเป็นระบบ และผ่านการค้นคว้ามาอย่างกว้างขวาง จะช่วยให้เกิดการคิดและวิเคราะห์ว่าวิชาทางด้านสังคมศาสตร์จะช่วยสร้างสังคมที่มีคุณค่า ที่ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว เพราะวิชาความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ศิลปกรรมศาสตร์ สังคมวิทยา มนุษวิทยา ล้วนมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่มีคุณภาพ มีความเจริญรุ่งเรือง ช่วยให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้วิชาด้านสังคมศาสตร์ยังก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การมองหาคุณค่าจากความรู้ด้านสังคมศาสตร์ไม่ถูกจำกัดด้วยวิธีการประเมินแบบวิทยาศาสตร์ที่มุ่งวัดแค่เพียงตัวเลขอย่างเดียว แต่จะเป็นการวัดในด้านของการสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่างที่หลากหลายเพื่อลดอคติ และช่วยให้คนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อความแตกต่างในสังคม
No comments:
Post a Comment