กรุงเทพมหานคร 12 กุมภาพันธ์ 2567 - นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) เพื่อเชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม ด้วยการนำ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ด้วยสร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในแข่งขัน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) ปีนี้เป็นปีที่ 31 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านตามประเภทรางวัลที่กำหนด ในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีศักยภาพในทุกด้าน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” เน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรม สีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง (กระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน)
รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) มีจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล
สำหรับในปีนี้ มีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 273 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมจำนวน 3 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 9 ประเภทรางวัล รวม 168 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 4 ประเภทรางวัล รวม 102 ราย โดยในแต่ละปีจะมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมให้กับสถานประกอบการเพียง 1 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากลและมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน มีการนำความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้ง การนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนเอง และสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายด้าน โดยมีผู้ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 44 ราย ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลคือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ขณะที่รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 9 ประเภทรางวัล มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 27 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 4 ประเภทรางวัล มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 16 ราย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ที่ https://industryaward.industry.go.th/th
นอกจากนั้น ในปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีรางวัลพิเศษมอบให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2566 คือ ทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่จะเป็นต้นแบบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่ดีและอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตลอดจนช่วยประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร และบริการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการมอบรางวัลอุตสาหกรรมจะเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่สถานประกอบการต้นแบบแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สถานประกอบการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลที่เข้มงวด ยิ่งส่งเสริมให้แต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รางวัลประเภทการจัดการพลังงาน ช่วยให้สถานประกอบการลดต้นทุนด้านพลังงานเป็นอย่างมาก รางวัลประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยให้ชุมชนโดยรอบสถานประกอบการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโรงงานได้อย่างสันติและมีความสุข หรือรางวัลประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ทำให้สถานประกอบการผลิตสินค้าที่มีความสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกสู่ตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการมากขึ้น เป็นต้น
“รางวัลอุตสาหกรรม เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่ทรงคุณค่า สมควรมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ประกอบการในอนาคต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้มีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมให้อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย
No comments:
Post a Comment