กัญชา คาเฟอีน ทำเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ - Siam Daily

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, July 15, 2022

กัญชา คาเฟอีน ทำเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ


หากร่างกายของเราได้รับกัญชาหรือคาเฟอีนในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ได้รับมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เพราะจะเพิ่มการบีบตัวของหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดหัวใจโตขึ้นจนกระทั่งหัวใจอ่อนกำลังลง แล้วทำให้มีโอกาสในการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ง่าย จึงควรรีบพบแพทย์ด้านโรคหัวใจทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อหัวใจและร่างกาย

นพ. ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและสรีระไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือเกิดทั้งคู่ร่วมกัน ส่งผลให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คือ น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือเต้นเร็วกว่าปกติ คือ มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เต้น ๆ หยุด ๆ ซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจหากหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการและความรุนแรงจะมากกว่า ต้องรีบตรวจรักษาทันที โดยปัจจัยที่เสี่ยงต่อการทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมี 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ ปัจจัยภายนอกหัวใจและหลอดเลือด อาทิ ภาวะติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง เสียเลือดมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะเครียด ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ การรับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ยาลดน้ำมูก การบริโภคกัญชาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และปัจจัยภายในหัวใจและหลอดเลือด อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นต้น

สำหรับกัญชาที่ในขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดให้ใช้อย่างเสรี การใช้กัญชาในปริมาณที่ไม่เหมาะสมหรือการใช้ผิดวิธี จะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ซึ่งสารสกัดจากกัญชามี 2 ชนิดหลัก ได้แก่ THC มีส่วนช่วยในการนอนหลับ การเบื่ออาหาร การปวดเรื้อรัง แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะส่งผลต่อสมอง ทำให้เกิดความมึนเมาได้ และ CBD ช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและเป็นสารต้านฤทธิ์เมาของ THC ผลข้างเคียงของการใช้กัญชาคือ ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ผิดวิธีเช่น การนำกัญชามาใช้แบบสันทนาการโดยนำมาสูดดม จะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว สารในกัญชาจะกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ และในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วควรระมัดระวังในการใช้กัญชาเช่นกันเพราะโรคประจำตัวใจแต่ละคนอาจจะต้องใช้ยารักษาหลายชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน การใช้กัญชาร่วมด้วยอาจส่งผลต่อยาอื่น ๆ ที่กำลังใช้อยู่ได้

คำแนะนำในการใช้กัญชาให้เหมาะสมในการปรุงอาหาร สามารถใช้ได้ไม่เกิน 2 ใบต่อเมนู และไม่ควรเกิน 4 ใบต่อวัน ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร แม้กัญชาจะสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินและดูแลโดยแพทย์เท่านั้น หลังใช้กัญชาไปแล้ว 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักร เพราะจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ซึม มึนงง ง่วงนอน ประมาณ 3-4 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หูแว่ว เห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้นสำหรับผลิตภัณฑ์ยาต้องใช้เมื่อมีอาการและให้เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วย ส่วนผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพรจะใช้เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนใช้งาน และห้ามนำช่อดอกมาใช้ด้วยตนเอง

นอกจากการใช้กัญชาที่จะส่งผลต่อหัวใจแล้ว คาเฟอีนถ้าได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจได้ เพราะกระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลีนที่ส่งผลให้หัวใจบีบตัวแรงและเร็วขึ้น มีอาการใจสั่น หงุดหงิด กระวนกระวายใจ หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ การบริโภคคาเฟอีนที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับกาแฟ 3-4 ถ้วยต่อวัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารชนิดอื่นที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วยในแต่ละวัน โดยกาแฟ 1 ถ้วย จะมีระดับคาเฟอีนอยู่ที่ 100 มิลลิกรัม น้ำชา 1 ถ้วย ระดับคาเฟอีน 75 มิลลิกรัม โค้ก 1 กระป๋อง ระดับคาเฟอีน 40 มิลลิกรัม และในเครื่องดื่มชูกำลัง 1 กระป๋อง (250 ซีซี) จะมีระดับคาเฟอีนอยู่ที่ 80 มิลลิกรัม

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่

● การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (12-Lead Electrocardiography, ECG or EKG) เป็นการตรวจมาตรฐานของหัวใจ โดยวัดการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ สามารถตรวจได้ทันที เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมานานพอก่อนมาถึงโรงพยาบาล และสามารถตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ได้ด้วย

● เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24–48 ชั่วโมง (Holter Monitoring) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24–48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องบันทึกไว้ติดตัวตลอดเวลา เครื่องจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้แม้ไม่มีอาการ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกวันหรือเกือบทุกวันในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่นาน ก่อนมาถึงโรงพยาบาล

● เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา (Event Recorder) เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือสามารถพกพาไปที่ต่าง ๆ ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการให้นำเครื่องมาทาบที่หน้าอกแล้วกดปุ่มบันทึก เครื่องจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการแล้วส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์พื้นฐานที่บ้านมายังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย เดือนละประมาณ 2–3 ครั้ง มีข้อจำกัดคือผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติกรณีที่เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะจะไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้

● เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable Loop Recorder, ILR) มีขนาดเล็กลักษณะคล้าย USB Flash Drive แพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย จากนั้นเครื่องจะบันทึกการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บคลื่นไฟฟ้าหัวใจเฉพาะช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะตามที่ได้โปรแกรมไว้ก่อนหน้าหรือเมื่อผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนาน ๆ ครั้ง แต่อาการค่อนข้างรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยหมดสติแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

● การตรวจวัดสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน (EST: Exercise Stress Test) เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน (Treadmill) เพื่อกระตุ้นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกแรง เหมาะกับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และยังช่วยตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ด้วย

● การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) สามารถตรวจดูความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ ทั้งขนาด รูปร่าง ลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจ เช่น ผนังกั้นหัวใจหนาตัวผิดปกติ ห้องหัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วผิดปกติ ผนังกั้นหัวใจรั่ว เป็นต้น

● การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการนำไฟฟ้าของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจและกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้

สำหรับแนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะประเมินทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้แก่

● การใช้ยาเพื่อปรับจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ (Antiarrhythmic Drug) ให้ใกล้เคียงระดับปกติ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ลดภาวะแทรกซ้อน และลดความรุนแรงที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต

● การช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Cardioversion) เพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาเต้นในอัตราที่ปกติ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

● การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA) แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจตรวจหาตำแหน่งความผิดปกติภายในหัวใจ จากนั้นจะทำการจี้ด้วยคลื่นวิทยุที่เปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานความร้อนเข้าไปตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ ปัจจุบันมักใช้ร่วมกับระบบสามมิติ (3D Mapping) เพื่อให้มองเห็นตำแหน่งได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ช่วยเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ซึ่งวิธีนี้มีโอกาสรักษาสำเร็จสูงมากกว่า 90% โดยจะต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจที่มีความชำนาญการ

● การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร (Permanent Pacemaker) แพทย์จะฝังเครื่องที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ไหปลาร้า เพื่อช่วยให้การเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือหัวใจหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ

● การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวร (Automated Implantable Cardioverter – Defibrillator, AICD) แพทย์จะฝังเครื่องบริเวณหน้าอกเพื่อช่วยตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและช็อกไฟฟ้าหัวใจทันทีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลัง และผู้ป่วยที่มีหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ

● การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและช่วยการบีบตัวของหัวใจ (Cardiac Resynchronization Therapy – CRT) เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาให้บีบตัวได้สอดคล้องกัน ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของหัวใจน้อยและมีความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ดีที่สุดคือ ออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30–45 นาทีต่อวัน 3-5 วันต่อสัปดาห์ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เครียดจนเกินไป ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวควรตรวจติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเกิดรู้สึกว่าหัวใจมีอาการผิดปกติควรเข้ารับการรักษาและปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 Contact Center โทร. 1719 หรือ Heart Care LINE Official: @hearthospital

ที่มา: https://web.newsfanfare.com/2022/07/blog-post_15.html (สามารถดูรูปภาพประกอบเพิ่มเติม) 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad