วช. ร่วมสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนานักวิจัยสิ่งแวดล้อม เสริมศักยภาพนักวิจัยในการสร้างผลงานวิจัยคุณภาพ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรม - Siam Daily

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, February 12, 2025

วช. ร่วมสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนานักวิจัยสิ่งแวดล้อม เสริมศักยภาพนักวิจัยในการสร้างผลงานวิจัยคุณภาพ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรม


วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดสัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้องานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2” โดยมี ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวรายงานและสรุปผลการดำเนินโครงการฝึกอบรม และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ  โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมศักยภาพเครือข่ายนักวิจัยให้สามารถผลิตงานวิจัยที่ตอบสนองต่อแผนพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนานักวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยความร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการจัดโครงการพัฒนานักวิจัยและเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละหลักสูตร จะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ พัฒนางานวิจัยเชิงบูรณาการสามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  สามารถเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 



ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบหลักสูตรที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ รวม 8 หลักสูตร ได้แก่

 1. การเขียนโครงการวิจัย และการนำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ประโยชน์

 2. การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

 3. การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste)

 4. การวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ และ PM2.5

 5. การวิจัยมลพิษอุตสาหกรรมและนิเวศอุตสาหกรรม

 6. การวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก

 7. การจัดการทรัพยากรน้ำกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 8. การรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ


ทั้ง 8 หลักสูตร ได้มีการจัดอบรมในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ถึงมกราคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมและผ่านการฝึกอบรมมากกว่า 300 คน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป



ทั้งนี้ การสัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจากจาก ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม  ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศพร้อมด้วยเวทีเสวนาจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้องานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่และการทำวิจัยให้ตรงเป้ากับการนำไปใช้ประโยชน์ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ทรัพยากรน้ำ (น้ำบาดาล), มลพิษทางอากาศและ PM2.5, การลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการเสวนาหัวข้อ  “นักวิจัยพบผู้ตรวจสอบโครงการวิจัย" ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ



กิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประเทศ ให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง วช. คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพนักวิจัยไทยให้สามารถผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป






No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad